คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะอนุกรรมาธิการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมและมุ่งผลสัมฤทธิ์
เดินทางมาศึกษาดูงานด้านสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกของประชาชน และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในชนบท
ณ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

             เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. วันพุธที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) ได้รับเกียรติจากคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมและมุ่งผลสัมฤทธิ์ ที่เดินทางมาศึกษาดูงานด้านสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกของประชาชน และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในชนบท โดยมีนายสวัสดิ์ สมัครพงษ์ กรรมาธิการ และสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช (อดีตอาจารย์ประจำสถาบัน การเรียนรู้เพื่อปวงชน ศรป.นครศรีธรรมราช) เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์จำนงค์ แรกพินิจอธิการบดี อาจารย์ ดร.ปรีชา อุยตระกูล รองอธิการบดี อาจารย์ ดร.ทวิช บุญธิรัศมี คณบดีบัณฑิตศึกษา อาจารย์ ดร.สามารถ จันทร์สูรย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ อาจารย์ศุภกร คุรุการเกษตร ประธานบริหารหลักสูตร พร้อมด้วยคณาจารย์ประจำและพนักงานสถาบันให้การต้อนรับและร่วมประชุม
             นายสวัสดิ์ สมัครพงษ์ กรรมาธิการ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการเดินทางมาในครั้งนี้ว่า คณะกรรมาธิการฯ มองเห็นว่าการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันต้องตอบโจทย์การพัฒนาของประทศ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน หรือมหาวิทยาลัยชีวิต ได้ดำเนินการจัดการอุดมศึกษาที่เป็นทางเลือกของประชาชน และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นในการมาครั้งนี้เป็นการมาดูว่าสถาบันทำงานพัฒนาการอุดมศึกษาอย่างไร รวมทั้งจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกันเพื่อให้การจัดการอุดมศึกษาของสถาบันเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง
             ผู้ช่วยศาสตราจารย์จำนงค์ แรกพินิจ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้กล่าวแนะนำสถาบัน ตั้งแต่แนวคิดและที่มาว่าตั้งแต่ ปี ๒๕๓๘ คณะทำงานซึ่งมีอาจารย์เสรี พงค์พิศ วิชิต นันทสุวรรณ ยงยุทธ ตรีนุชกร จำนงค์ แรกพินิจ ปรีชา อุยตระกูล และสามารถ จันทร์สูรย์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและนำเสนอเรื่อง“ปฏิรูปการศึกษา เพื่อปวงชน แล้วชาวบ้านจะเข้าสูศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างไร” ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย สกว. ปี ๒๕๔๕ คณะได้ร่วมทำงานเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน และจัดตั้งสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ปี ๒๕๔๖ ขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ปี ๒๕๔๘ มูลนิธิฯ จัดทำหลักสูตรสหวิทยาการ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและเสนอทำร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ และผลิตบัณฑิตไปแล้ว ๙๐๐๐ กว่าคน ต่อมาปี ๒๕๕๓ มูลนิธิฯ ได้ขอจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาการ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม และได้ผลิตบัณฑิตไปแล้ว ๖๐๐๐ กว่าคน
             ปัจจุบันสถาบันดำเนินการจัดการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการพัฒนาชีวิตและชุมชนแบบบูรณาการ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๘) และกำลังรับสมัครนักศึกษาในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๖๓ คือสาขาวิชาการพัฒนาชีวิตและประกอบการชุมชน ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยใช้การประกอบการชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งสถาบันมีแนวทางการบริหารหลักสูตรที่ทำให้นักศึกษาสามารถ ค้นพบศักยภาพของตนเองกำหนดแผนโครงงานตนเองแล้วลงมือทำโครงงานตามอาชีพเดิมของตนเองจนประสบผลสำเร็จ
             กรรมาธิการ ได้พูดคุยสอบถามแลกเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษากับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาและ ศิษย์เก่า และได้ชื่นชมผลงานการจัดการศึกษาของสถาบันที่กล้าทำในสิ่งที่ยากและสำคัญจนทำให้นักศึกษาสามารถพัฒนาชีวิตให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพึ่งตนเองได้ นับว่าสถาบันเป็นผู้สร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนสร้างคนสร้างงานให้ลูกศิษย์มีอาชีพจำนวนมาก ขอให้กำลังใจ ถือว่ามาถูกทางและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศและแนวโน้มการจัดการศึกษาของชาติและของโลก พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาว่า สถาบัน มีอัตลักษณ์ของตนเองที่ชัดเจนแล้วและควรจัดการเรียนการสอนที่สร้างโอกาสเพิ่มให้กับผู้ที่ต้องการเข้าถึงการศึกษา ในหลายรูปแบบ โดยตั้งคำถามว่า นอกจากจัดการศึกษาตามระบบที่เป็นอยู่แล้วจะทำอย่างไรได้อีกบ้าง การจัดการศึกษาแบบ ม.ชีวิต เป็นการช่วยรัฐสร้างงานสร้างรายได้ สร้าง GDP ให้แก่ประเทศโดยแท้ จึงควรหาทางเสนอให้รัฐเข้ามาสนับสนุนให้มากขึ้น หรือเสนอกฎหมายให้ ม.ชีวิต เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐเพื่อให้รัฐได้เข้ามาสนับสนุน และจะได้มีโอกาสในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนส่วนรวมอย่างเต็มที่
  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน