ความเป็นมาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
     สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนก่อตั้งโดย “มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” (สสวช.) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิหมู่บ้านที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง “สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อนหน้านี้ และพัฒนาเป็นมูลนิธิดังกล่าวในปี พ.ศ.2549
     มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนด้วยแนวคิด “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาหลักสูตร “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ภายใต้ “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ประสบการณ์และบทเรียนจากการจัดการศึกษาดังกล่าว ส่งผลให้มูลนิธิฯ ตัดสินใจก่อตั้ง “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน”ให้มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรของตนเองอย่างอิสระ โดยได้รับอนุญาตจากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2553 และเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 ในระดับปริญญาตรี (ศิลปศาสตรบัณฑิต) จำนวน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การจัดการสุขภาพชุมชน และการจัดการเกษตรยั่งยืน และในระดับปริญญาโท (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต) จำนวน 2 สาขาวิชา ได้แก่ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการจัดการระบบสุขภาพชุมชน
     สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน มีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในชนบท นโยบายการศึกษาของสถาบันนี้จึงเป็นการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น เน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้โดยความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่น เครือข่ายราชการและเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค เพื่อผนึกพลังการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรที่ส่งผลต่อการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
สภาพแวดล้อมของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
     สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ตั้งอยู่เลขที่ 13/2 หมู่ที่ 1 ตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นที่ทำการของสถาบันฯ ในส่วนกลาง ประกอบด้วยสำนักงานอธิการบดี คณะศิลปศาสตร์ บัณฑิตศึกษา สำนักกิจการนักศึกษา ฝ่ายบริหาร และฝ่ายวิชาการ
     สถาบันฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย “ศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน” (ศรป.) ประจำจังหวัดต่างๆ ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน ปัจจุบันมีจำนวน 10 ศรป. ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย นครสวรรค์ อุดรธานี มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี และสงขลา นอกจากนั้น สถาบันฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต จังหวัด” (ศปจ.) จำนวน 19 ศูนย์ทำหน้าที่ประสานงานและจัดการเรียนรู้ของ ศรป. รวมทั้งให้การสนับสนุน “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต” (ศรช.) จำนวน 35 ศูนย์ เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของสถาบันฯ
     บุคลากร สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมีบุคลากรประกอบด้วยผู้บริหาร อาจารย์ และพนักงานในส่วนกลาง จำนวน 48 คน และส่วนภูมิภาคหรือนอกที่ตั้ง จำนวน 61 คน รวมทั้งสิ้น 109 คนบุคลากรจำนวนที่กล่าวนี้ แบ่งเป็น อาจารย์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 56 คน ประกอบด้วยอาจารย์ที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาตรี 7 คน (ร้อยละ 12.5) ปริญญาโท จำนวน 33 คน (ร้อยละ 58.93) และปริญญาเอก จำนวน 16 คน (ร้อยละ 28.57) สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน จำนวน 53 คน คุณวุฒิต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จำนวน 13 คน (ร้อยละ 24.53) ปริญญาตรี จำนวน 28 คน (ร้อยละ 52.83) ปริญญาโท จำนวน 11 คน (ร้อยละ20.75) และปริญญาเอก จำนวน 1 คน (ร้อยละ 1.89)
     ปัจจุบัน สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี จำนวน 1 หลักสูตรคือ การพัฒนาชีวิตและชุมชนแบบบูรณาการ ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562 สถาบันฯ มีนักศึกษา จำนวน 977 คน และระดับปริญญาโท จำนวน 2 สาขาวิชาคือ การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ และการจัดการระบบสุขภาพชุมชน มีนักศึกษา จำนวน 132 คน รวมนักศึกษาทั้งสิ้น จำนวน 1,109 คน
การจัดกระบวนการศึกษา
     กรอบแนวคิดดังกล่าวข้างต้น สถาบันได้นำมาเป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้
      เนื้อหา (content) สถาบันจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหา/ประสบการณ์/ความสนใจ/เป้าหมายชีวิตของผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือจัดการเรียนรู้ตามศักยภาพของผู้เรียนซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดังนั้น ผู้เรียนในชั้นเดียวกันจึงไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกัน โดยแต่ละคนต้องนำเนื้อ/ประสบการณ์/ความสนใจ/เป้าหมายชีวิต มาเป็นโครงงานและเรียนรู้บนพื้นฐานโครงงานของตน
      กระบวนการ (process) สถาบันเป็นผู้กำหนดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาโดยใช้โครงงานของนักศึกษาแต่ละคนเป็นตัวกำหนด เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการชุมชนตามโครงงานของนักศึกษา
      การสอนงาน (coaching) สถาบันได้พัฒนาคณาจารย์ให้มีความรู้ความสามารถใน “การสอนงาน” หรือเป็น “โค้ช” (coach) แทนการสอนหนังสือ อาจารย์จะเป็นผู้ชี้แนะนักศึกษาให้สามารถนำโครงงานของตนไปปฏิบัติได้จริงและเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน